เมื่อวันที่30 สิงหาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปราม

การลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ กรมศุลกากรจึงได้
ขานรับนโยบาย โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเข้มงวดกวดขัน
ในการป้องกันและปราบปรามการนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อจำหน่ายจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก และยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจ
ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับ
การอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม อีกด้วย

โดยเมื่อวันที่ (23 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้รับการข่าวว่า
มีสินค้าไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่ผ่านพิธีการศุลกากร เก็บอยู่ในโกดังที่เก็บสินค้า
เพื่อรอการจำหน่าย ในพื้นที่ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร จึงได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุม ผลการตรวจค้น พบสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ อาทิ หม้อหุงข้าว
หม้ออบลมร้อน พัดลม รวมจำนวน 1,165 ชิ้น มูลค่ากว่า 624,500 บาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากร กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ถึงแม้การตรวจค้นจับกุมในครั้งนี้ จะพบจำนวนสินค้าและมูลค่าไม่มาก

แต่หากสินค้าเหล่านี้นำไปจำหน่ายยังท้องตลาดย่อมเป็นอันตรายต่อประชาชน อีกทั้งการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
ในราคาที่ต่ำนี้ ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงต่อผู้ประกอบการสุจริตที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐานอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยได้มีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจังและเข้มข้นมากขึ้น สำหรับกรมศุลกากร นอกจากการลงพื้นที่ตรวจค้น
ตามโกดัง หรือที่พักสินค้าที่สงสัยว่ามีสินค้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้แล้วยังได้ทำการอายัดสินค้า ณ ท่า/ที่ที่นำเข้า
เพื่อรอผลการพิจารณาอนุญาตจาก สมอ. เป็นจำนวนมากอีกด้วย หากสินค้าที่อายัดไว้นั้นไม่ได้คุณภาพตามที่ สมอ. กำหนด จะสั่งให้ดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศต้นทางตามแนวทางที่ สมอ. กำหนดต่อไป

สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 30 สิงหาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ทั้งสิ้น 27 คดี จำนวน 242,966 ชิ้น มูลค่ารวม 69.17 ล้านบาท

นอกจากนั้น จากกรณีที่มีข่าวว่าอาจมีการลักลอบนำเข้าทุเรียนเพื่อสวมสิทธิ์ส่งออกไปยังต่างประเทศนั้น อธิบดีกรมศุลกากรยังได้สั่งการให้เพิ่มความเข้มงวด เฝ้าระวังและปราบปรามทุเรียนลักลอบนำเข้าที่ไม่ได้คุณภาพ
และไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างถูกต้องตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคชาวไทย และอาจส่งผลต่อภาพลักษณ์/ชื่อเสียงทุเรียนส่งออกของไทย หากมีการสวมสิทธิ์ส่งออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้เกษตรกรไทยอีกด้วย ##ขอบคุณภาพข่าว/Dit News/รายงาน##