((POLICE NEWS update PLUS))…” สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย(TSPCA) เห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง” .

การจับนกในธรรมชาติมาปล่อย
สำหรับกรณีการจับนกใส่ถุงร้อนเจาะรู เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ทำบุญ ในตลาดเช้าจังหวัดกาฬสินธุ์ นั้น
ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้พยายามรณรงค์เพื่อยุติการจับสัตว์ในธรรมชาติเพื่อปล่อย เช่น การรณรงค์เผยแพร่ภาพยนตร์สั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป?” โดยผู้สนใจสามารถติดตามได้ทาง YouTube TSPCA THAILAND ได้มีมติมหาเถรสมาคมฯ ที่ 410/2561 เรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ ในการปล่อยสัตว์ในวัด โดยกำหนดให้วัดเป็นเขตห้ามเจ้าของสัตว์ นำสัตว์มาปล่อย เป็นเขตห้ามซื้อขายหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับการค้าชีวิตสัตว์ภายในวัด การจัดกิจกรรมรณรงค์ผ่านกิจกรรมรักสัตว์ในโรงเรียน ลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ การติดโปสเตอร์ การลงพื้นที่ติดตามและการประเมินผลการการดำเนินการของวัดต่าง ๆ เป็นต้น
การจับนกในธรรมชาติมาปล่อยเพื่อการ“ทำบุญ” นับว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศตามธรรมชาติ รบกวนวงจรชีวิตและความสงบสุขของนก รวมทั้งเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งการจับนกตัวเล็กที่อยู่ในธรรมชาติ ด้วยวิธีการใช้แหในทุ่งนา หรือขึงตาข่ายดักจับ เมื่อนกติดแหไนล่อนก็ต้องปลดแกะออก ซึ่งทำให้นกจำนวนหนึ่งก็จะตาย เมื่อขนส่ง ในการขนส่ง การจับนกใส่กรงที่แออัด เมื่อนกขาดอาหารและน้ำก็จะตาย รวมทั้งเมื่อใส่กรงรอคนปล่อยนกก็ตายอีกเช่นกัน สำหรับกรณีการใส่ถุงร้อน ขนาดเล็กเจาะรู ดังที่เป็นข่าว ด้วยพื้นที่อันจำกัดคับแคบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีโอกาสมากที่นกเหล่านั้นอาจจะตายด้วยความทุกข์ทรมาน เคยมีการคำนวณกันว่า นกจำนวน 100 ตัว ที่ถูกจับมาจากธรรมชาตินั้น จำนวนที่ได้รับอิสรภาพกลับคืนไปจะมีประมาณแค่ 10 ตัว ที่ผ่านธุรกิจการค้าชีวิต ซึ่งนกบางตัวเป็นแม่นก ที่ต้องไปหาอาหารหรือเหยื่อให้กับลูกนก เมื่อแม่นกถูกจับ ลูกนกก็อดตายทั้งรังอีกด้วย
การจับนกในธรรมชาติเพื่อการปล่อย ยังเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมาย เพราะสัตว์จำพวกนกกว่า 952 ชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนั้นกรณีการจับนกใส่ถุงร้อนเจาะรู เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ทำบุญ ในตลาดเช้าจังหวัดกาฬสินธุ์ จึงต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า นกที่จับมาจำหน่ายนั้นเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือไม่ ถ้าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ล่าหรือผู้ครอบครองจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 กำหนด มาตรา 16,19,20 ประกอบมาตรา 47 ห้ามล่า ครอบครองและการค้า สัตว์ป่าคุ้มครอง ถ้าไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ซึ่งปลายปี 2562 นี้ ได้มีการประกาศแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 ให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้หลังประกาศ 180 วัน โดยกำหนดเพิ่มโทษในการห้ามล่าและการค้าสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง ตามมาตรา 12 และ 29 โดยผู้ล่าและค้าสัตว์ป่าคุ้มครองจะมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ล่าและค้าสัตว์ป่าสงวน จะมีโทษจำคุก ตั้งแต่สามถึงสิบห้าปี ปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 89 อีกด้วย
แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่านกดังกล่าวไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการทารุณต่อสัตว์ ให้ได้รับความทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ก็เป็นความผิดต้องระวางโทษคำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 381 เช่นกัน
จึงขอฝากว่า ถ้าไม่มีการจ่ายเงินเพื่อปล่อยนกก็จะไม่มีการจับนกมาเสนอขาย เข้าสู่วงจรธุรกิจบุญ อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงควรเริ่มต้นจากตัวเราเองด้วยการที่ไม่สนับสนุน การซื้อนกที่จับในธรรมชาติ เพื่อนำมาปล่อย ก็จะสามารถยุติการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรได้อีกทางหนึ่ง สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจด้านนี้ก็ควรลด ละ เลิก อาชีพนี้ลงเพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายและเป็นมิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายสิ่งที่บุคคลไม่ควรค้าขาย 5 อย่างซึ่ง 1 ใน 5 นั้นคือ มังสวณิชชา หมายถึง ค้าขายสัตว์เป็นที่ยังมีชีวิต สำหรับฆ่าหรือเป็นการส่งเสริมทารุณกรรมสัตว์ให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 โดยผู้พบเห็นการซื้อขายนกเพื่อมาปล่อยสามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุดปฏิบัติการเหยี่ยวดง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือโทรประสานงานสายด่วนพิทักษ์ป่าและสัตว์ป่า โทร 1362 เป็นต้น

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *